คำถาม - คำตอบ
คำถาม : สินค้านำเข้ามาแล้วพบว่ามีสินค้าที่ชำรุดและสามารถเปลี่ยนสินค้าดังกล่าวกับผู้ผลิตได้ สินค้าที่เปลี่ยนเมื่อนำเข้ามาจะต้องเสียภาษีนำเข้าหรือไม่? ถ้าต้องชำระ จะขอลดหย่อนอัตราภาษีได้หรือไม่? หรือต้องดำเนินการอย่างไร ?
คำตอบ : กรณีนำสินค้า เข้ามาแทนสินค้าเดิม สินค้าที่นำเข้าจะต้องชำระอากรตามชนิดและอัตราอากร ตามประเภทพิกัดของสินค้านั้น สำหรับการขอสิทธิลดหย่อนค่าภาษีอากร เนื่องจากเป็นการนำเข้ามาทดแทนสินค้าชำรุดที่นำเข้าก่อนหน้านั้น ไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีประกาศหรือคำสั่งให้ลดหย่อนภาษีอากร และสินค้านี้เป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยปกติ สำหรับสินค้าที่ชำรุดหรืออาจจะผิดรุ่น ผู้นำเข้าสามารถส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือผู้ขายและขอคืนค่าภาษีอากรที่ชำระไว้ ได้ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนด ว่าด้วยการคืนอากรตามมาตรา 19 ( Re-Export ) สินค้านอกอารักขาศุลกากร
คำถาม : การนำเข้าสินค้าที่ใช้ในการเกษตรจะได้รับยกเว้นอากรใช่หรือไม่ ?
คำตอบ : สินค้าที่ใช้ใน การเกษตรเฉพาะที่เป็นสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดฯที่มีประกาศยกเว้นอากร ให้ จะได้รับการยกเว้นอากร ทั้งนี้หากมีเงื่อนไขใดๆ เช่น ต้องพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของอธิบดีกรมศุลกากรว่าเป็นของที่ใช้ในการเกษตร ก็จะต้องผ่านการพิสูจน์ดังกล่าวก่อนด้วย ผู้นำเข้าจึงต้องตรวจสอบประเภทพิกัดฯของของที่จะนำเข้าก่อน และดูว่าในประเภทพิกัดฯนั้นๆมีการยกเว้นอากรหรือไม่
คำถาม : การส่งของไปซ่อมหรือออกไปแสดงที่ต่างประเทศ แล้วนำกลับเข้ามาใหม่จะต้องเสียภาษีหรือไม่ และมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ?
คำตอบ : ของที่ส่งออก หรือส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อนำกลับเข้ามาใหม่จะอยู่ในข่ายได้รับยกเว้นอากร ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องนำกลับเข้ามาภายในกำหนด 1 ปี และได้รับใบสุทธินำกลับในเวลาที่ส่งออกไว้แล้ว
คำถาม : กรณีเดินทางไปต่างประเทศมีของติดตัวที่ต้องนำออกนอกประเทศต้องทำอย่างไรบ้าง ?
คำตอบ :
1. โดยปกติแล้วการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าเป็นทางด่านศุลกากรชายแดน หรือที่สนามบินนานาชาตินั้น หากผู้โดยสารมีกล้องถ่ายรูป กล้องวีโอ คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ผู้โดยสารต้องนำของดังกล่าวแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะมอบสำเนาเอกสารไว้ ให้ 1 ฉบับ สำหรับแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรอีกครั้ง ในวันเดินทางกลับ
2. สำหรับการนำเครื่องมือเครื่องใช้ในวิชาชีพเพื่อออกไปใช้ในต่างประเทศและจะนำ กลับเข้ามาอีกเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย วิธีที่สะดวกที่สุด คือ ใช้เอกสารค้ำประกัน เอ ที เอ คาร์เนท์ สำหรับของที่นำเข้า - ส่งออก เป็นการชั่วคราวเพื่อใช้ในวิชาชีพ ซึ่งจะสะดวกมากเพราะเอกสารดังกล่าวสามารถเป็นใบขนฯ สินค้าออกจากประเทศนั้น ๆ หากประเทศนั้นเป็นประเทศภาคีสมาชิกเอ .ที.เอ.คาร์เนท์ อยู่แล้ว สำหรับการจัดทำเอกสาร เอ ที เอ คาร์เนท์ ของประเทศไทยนั้น สามารถติดต่อได้ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยซึ่งจะออกเอกสาร เอ ที เอ คาร์เนท์ มาให้ จากนั้นนำมากรอกรายละเอียดของที่จะนำออกไปและนำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ขณะเดินทางออกนอกประเทศ ที่สำคัญอย่าลืมเวลาเดินทางกลับก็ต้องนำเอกสารดังกล่าวแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ศุลกากรด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ไม่ต้องมีปัญหาด้านภาระค่าภาษีอากร
คำถาม : กรณีที่ฝากคนรู้จักซื้อสินค้าจากต่างประเทศแล้วส่งมาให้ กับการสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ต วิธีไหนคุ้มค่ากว่ากัน ?
คำตอบ : ไม่สามารถตอบได้ว่า วิธีไหนคุ้มกว่ากัน เพราะสินค้าแต่ละชนิดมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันโดยมีหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าที่ส่งมาทางไปรษณีย์ ดังนี้
1. สินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท จะยกเว้นภาษีอากร
2. สินค้าที่มีมูลค่าเกิน 1,000 บาท และไม่ได้เป็นของต้องห้าม ต้องกำกัด ด่านศุลกากรไปรษณีย์ จะมอบให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือกสท.จัดส่งให้ผู้รับและเรียกเก็บภาษีศุลกากรแทนกรมศุลกากร
3. ในกรณีที่สินค้ามีมูลค่าเกิน 20,000 บาท ด่านศุลกากรจะเก็บรักษาสินค้านั้นไว้และให้ กสท.ออกใบแจ้งความไปรษณีย์ภัณฑ์ส่งให้ผู้รับ เพื่อให้ไปติดต่อรับของที่ด่านศุลกากรไปรษณีย์ และชำระค่าภาษีอากร